จีน เร่งแซงโค้ง สู่อนาคตแห่งโลกยานยนต์ไฟฟ้า

Share

 

นี่คือประเทศที่ต้องการขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 40% ของรถยนต์ออกใหม่ทั้งหมดภายในปี 2030 แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ต้องมาดูว่าจะชาร์จรถยนต์เหล่านั้นกันอย่างไร

 

สองสามปีก่อน จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบง่ายๆ ผุดขึ้นรอบหมู่บ้านใกล้กับราชวงศ์หมิงภายในชั่วเวลาแค่เพียงข้ามคืน โดยสถานที่ดังกล่าวคือแหล่งพักผ่อนในวาระสุดท้ายของราชวงศ์ที่มีอายุเก่าแก่มานานเกินครึ่งสหัสวรรษ หมู่บ้านอันเงียบสงบชานเมืองปักกิ่งนี้มีประชากรเพียง 900 คนและเต็มไปด้วยผืนนา ดูเผินๆ แทบจะไม่มีเค้าของการเป็นศูนย์กลางทางด้านรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในวันนี้ กลับกลายเสมือนเป็นส่วนเล็กๆ ที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์เชิงรุกของประเทศจีน

ประเทศจีนตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 ในบรรดารถยนต์ใหม่ที่ขายในตลาด 40% จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า นั่นหมายความว่ามีรถยนต์จำนวนมากที่จะต้องชาร์จไฟ และภายในปี 2025 รัฐบาลจีนกำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้ามากถึงกว่า 20 ล้านคัน ซึ่งตอนนี้ในประเทศจีนมีจุดชาร์จรถไฟฟ้าสาธารณะอยู่ 810,000 จุด โดยกว่า 70% จะอยู่ในย่านที่มีผู้พักอาศัยอยู่หนาแน่น อย่างในกวางตุ้ง และเซี่ยงไฮ้

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะแนวทางใหม่ที่ออกมาในเดือนมกราคม คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เริ่มเรียกร้องให้มีการกระจายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไปยังทุกมณฑลและหมู่บ้าน โดยเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการ “ฟื้นฟูชนบท”

โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่สำคัญของรัฐบาลจีน ในการเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นกลางด้านคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2060 ซึ่งเป็นความริ่เริ่มของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยเป็นผลพลอยได้จากการลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซ

ทุกวันนี้ จีน ไม่ใช่แค่ประเทศผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกอีกต่อไปแล้ว แต่ยังคงเดินหน้าพัฒนาและกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรายสำคัญรวมถึงมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลกไปแล้ว ซึ่งความพยายามในการขยายอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ดูออกมาเป็นรูปธรรม เช่น จากยอดขายรถยนต์โดยสารในประเทศในปี 2021 ส่วนแบ่งที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 3%  โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 32% ในอีก 9 ปีข้างหน้า และกลายเป็น 77% ภายในปี 2040 ตามรายงานของ Bloomberg New Energy Finance

“แต่ก่อนนั้นรถยนต์แบรนด์ต่างประเทศถือเป็นที่ต้องการมากที่สุด แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ากลับแตกต่างออกไป คนรุ่นใหม่จำนวนมากต่างสนใจอยากเป็นเจ้าของยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แถมภาครัฐบาลท้องถิ่นยังนำเสนอ incentives มากมาย โดยในบางเมืองนั้น เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจ่ายภาษีป้ายทะเบียนถูกกว่ารถธรรมดา และยังมีอภิสิทธิ์ในการใช้รถได้แม้ในวันที่มีการจำกัดจำนวนรถยนต์เนื่องจากมลพิษทางอากาศสูง แต่โจทย์ของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ รถไฟฟ้าทุกคันที่ถูกขายออกไป หมายถึงการมีรถที่ต้องชาร์จไฟเพิ่มขึ้นอีกคัน” อิลลาเรีย มาซซอกโค เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ ที่ศึกษาวิจัยอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีน กล่าว

ย้อนกลับไปในปี 2009 รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายมาหลายข้อ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารวมถึงสนับสนุนให้บริษัทน้ำมันของรัฐฯ ลงทุนในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EV แต่ดูเป็นการปรับตัวที่ไปอย่างช้าๆ เพราะมีเพียง 7 เมืองจาก 25 เมืองเท่านั้นที่มีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดอยู่บนท้องถนนในราว 1,000 คัน ในปี 2012 ที่ดูแล้วน่าปวดหัวกว่าก็คือระบบการชาร์จไฟของรถที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้

พอมาถึงปี 2013 หน่วยงานของรัฐบาลได้ออกโครงนำร่องใหม่ โดยครั้งนี้เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันสำหรับระบบชาร์จไฟและโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปัจจุบันนี้ มีมาตรฐานการชาร์จแบบเดียวแม้กระทั่ง Tesla ที่มีระบบชาร์จอันเป็นเอกลักษณ์ยังต้องปรับมาใช้แบบเดียวกัน ตรงกันข้ามเทียบกับในสหรัฐอเมริกานั้นกลับมีระบบชาร์จรถไฟฟ้าที่แตกต่างกันถึง 3 ระบบ (ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เสนอมาตรฐานเพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว) ส่วนทางด้านสหภาพยุโรปนั้นมีมาตรฐานสำหรับปลั๊กชาร์จรถไฟฟ้าพร้อมแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องของความแตกต่างในระบบจ่ายเงินที่อาจจะยังทำให้เกิดความสับสนได้

การที่จีนสามารถทำให้ที่ชาร์จแต่ละประเภทสามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้มีความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ ที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้งาน EV แอนเดรส โอบ นักวิจัยด้านพลังงานของสถาบันออกฟอร์ดในปักกิ่ง อธิบาย ในเมืองจีนคุณสามารถเอารถไฟฟ้าไปเสียบชาร์จไฟที่จุดชาร์จไหนก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีบัตรพิเศษหรือสมัครสมาชิกใดๆ ก่อน และสามารถชำระเงินด้วยรหัส QR ในรูปแบบการชำระเงินทั่วไป เช่น WeChat Pay หรือ Alipay

นอกจากนั้นภาครัฐยังได้สนับสนุนทั้งเรื่องของเงินทุนและนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโต เช่นอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศในช่วง ปี 2015-2019 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอร๊่จากบริษัทที่รัฐบาลอนุมัติแล้วเท่านั้นถึงจะได้รับสิทธิรับเงินสนุบสนุน สิ่งนี้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในวงการอย่าง CATL และ BYD โดยที่บริษัทเหล่านี้จะต้องได้มาตรฐานด้านต่างๆ อาทิ การลดการใช้พลังงานหรืออาจจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิต

แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เงินสนับสนุนสำหรับการซื้อรถไฟฟ้านั้นค่อยๆ ลดลง แต่ยอดขายก็ไต่ระดับขึ้น โดยในปี 2021 มีการจำหน่ายรถไฟฟ้าและไฮบริดในประเทศจีนถึงเกือบ 3 ล้านคัน ทีเดียว คิดเป็นเกือบ 15% ของจำนวนรถทั้งหมดที่ขายในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลอ้างอิงโดยสมาคมผู้ผลิตรถยนต์โดยสารจีน มีตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าอยู่จำนวนมาก ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในจีนในราคาที่ 5,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 170,000 บาท) อย่าง Wuling Hongguang Mini EV กระทั่งรถคันเล็กมากๆ เรื่อยไปจนถึงรถหรูหราอุปกรณ์ครบครันอย่าง Tesla และรถจากผู้ผลิตจีนชื่อดังอย่าง NIO หรือแม้กระทั่ง Ora Ballet Cat จากค่าย GWM (ที่คนไทยหลายคนอยากให้นำเข้ามาขาย) ที่มีดีไซน์ย้อนยุคแบบ VW Beetle ในสีพาสเทล ไว้เจาะตลาดคุณผู้หญิงโดยเฉพาะ

Wuling Hongguang Mini EV
Wuling Hongguang Mini EV รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า โครงสร้างระบบชาร์จไฟต้องรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าให้ทัน โดยเมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดยานยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตแบตเตอรี่อย่าง BYD เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีศึกษาตั้งแต่แรกเริ่มว่า ภายในปี 2017 รถประจำทางทุกสายของเมืองจะเป็นรถไฟฟ้า ส่วนรถแท็กซี่ในเมืองก็ได้เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ากันทั้งหมดในปีถัดมา โดยในช่วงแรกจุดชาร์จมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใหม่นี้

เมื่อมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกแนวทางโดยขอให้ทุกลานจอดรถของที่พักอาศัยที่สร้างขึ้นใหม่ต้องสามารถรองรับการชาร์จรถไฟฟ้าด้วย โดยที่บางเมืองนั้นก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางใหม่นี้ได้แล้วแถมยังออกค่าใช้จ่ายเองในการเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าให้กับอาคารและลานจอดรถเก่าอีกด้วย

แต่นิสัยการขับรถในประเทศจีนนั้นดูจะแตกต่างจากในประเทศฝั่งตะวันออก ผู้ใช้รถไฟฟ้าชาวจีนส่วนใหญ่มักจะพึ่งพาบริการชาร์จไฟสาธารณะมากกว่า โดยบริษัทผู้จำหน่ายไฟฟ้าหลักสองแห่งของจีน ได้แก่ State Grid และ Southern Grid จะรับหน้าที่ดูแลรักษาเครือข่ายสถานีชาร์จความเร็วสูงตามทางหลวง ในขณะที่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่จะดูแลเรื่องการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเมืองและตามหมู่บ้านต่างๆ

ในย่านเมืองเก่า การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้นอาจสร้างภาระให้กับเครือข่ายไฟฟ้าของเมือง และบริษัทที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคก็ดูเหมือนจะยังลังเลเรื่องการอัพเกรด แต่กลับสั่งให้ผู้ให้บริการสร้างสถานีชาร์จไฟในบริเวณที่เครือข่ายไฟฟ้ามีกำลังมากพอ ซึ่งเป็นสถานที่ไม่ค่อยสะดวกสำหรับผู้ขับ แต่สถานีชาร์จตามทางหลวงและสถานีสาธารณะส่วนใหญ่นั้นก็ช้าจนน่าใจหาย ทำให้ห้างหลายแห่งนำเสนอบริการชาร์จแบบความเร็วสูงระดับ 50kWh ซึ่งสามารถชาร์จรถไฟฟ้าเสร็จใน 1 ชั่วโมงได้ หรือสถานีบริการบางแห่งตามทางหลวงก็เลือกติดตั้งอุปกรณ์ระดับ 100 kWh หรือสูงกว่า ในการเติมไฟฟ้าให้เต็มได้แค่ภายในระยะเวลาเพียง 15 นาที

ชาวจีนส่วนใหญ่นั้นไม่ค่อยนิยมการขับรถระยะไกลมากนัก จึงช่วยลดความกังวลเรื่องจำนวนรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมเครือข่ายรถไฟที่ครอบคลุม รวมถึงรถไฟความเร็วสูงกว่า 20,000 ไมล์ ตัวอย่างเช่น รถไฟจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้ ที่แวะส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองต่างๆ โดยใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงด้วยความเร็วสูงสุด 217 ไมล์ต่อชั่วโมง (เกือบ 350 กม.ต่อชั่วโมง) นั่นคือเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์แค่สำหรับเดินทางในเมืองหรือในระยะทางสั้น ๆ และขึ้นรถไฟหรือเครื่องบินสำหรับการเดินทางไกล

แทนที่จะคาดหวังให้คนขับเสียบปลั๊กและรอ บริษัทบางแห่งกำลังทดลอง “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่” ที่ทำงานคล้ายกับเครื่องล้างรถอัตโนมัติ โดยเมื่อขับรถ EV ที่แบตเตอรี่ใกล้หมดเข้าไปที่จุดบริการ ก็จะมีหุ่นยนต์เข้ามาเปลี่ยนแบตเตอรี่โดยใช้เวลาประมาณห้านาทีขณะที่คนขับรออยู่ในรถ แนวคิดนี้ขยายไปตามที่ต่างๆ ในโลกแล้ว แต่เริ่มต้นที่ประเทศจีนโดยได้รับความนิยมในหมู่เจ้าของรถบรรทุกและรถแท็กซี่

NIO ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมุ่งเป้าที่จะเป็น Tesla เวอร์ชันจีน ได้ทำให้การเปลี่ยนแบตเตอรี่กลายเป็นบริการแบบลักชัวรี่ ปัจจุบันบริษัทฯ มีสถานีบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่อยู่ทั่วประเทศจีน 949 แห่ง และมีแผนเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี 2025 โดยแนวคิดก็คือ แทนที่จะต้องซื้อแบตเตอรี่หลายๆ ชุดเอาไว้เปลี่ยน 60% ของผู้ใช้รถของ NIO ในประเทศจีนเลือกเช่าบริการที่เรียกว่า “บริการแบตเตอรี่พร้อมใช้” โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน สำหรับชุดแบตเตอรี่พร้อมใช้ในจำนวนที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันสถานีสลับแบตนี้จะอยู่ตามหัวเมืองที่นิยมใช้รถ NIO กันมาก และเพื่อลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่ม NIO จึงนำเสนอการอัพเกรดแบบถาวรที่ให้ความยืดหยุ่น เป็นแบตเตอรี่ที่จุไฟสูงขึ้นและการชาร์จไฟแบบฉุกเฉินระหว่างขับขี่

NIO Battery Station
สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ของ NIO

การสลับแบตไม่น่าเป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะโดยทั่วไปแบตที่ใช้ในรถไฟฟ้าแต่ละแบรนด์จะไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ หรือแม้จะแตกต่างกันเล็กน้อย ก็ยังน่ากังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่ดี แต่นั่นไม่ได้ทำให้หลายบริษัทเลิกทำระบบสลับแบตของตัวเอง เพราะผู้ผลิตรถยนต์ Geely และ Aion และ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ Sinopec บริษัทพลังงานของรัฐบาลได้เปิดตัวความร่วมมือกับ NIO เพื่อติดตั้งสถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ในปั๊มน้ำมันของ Sinopec ในปี 2021

ย้อนกลับไปที่หมู่บ้านแถบสุสานราชวงศ์หมิง รถ EV กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสะดวกสบายสามารถชาร์จไฟได้จากใจกลางย่านธุรกิจของปักกิ่ง การเติบโตของรถ EV ของจีนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แถมในพื้นที่ชนบทบริษัทเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และรัฐบาลกลางกำลังพยายามขยายให้มีการใช้รถ EV ให้มากขึ้น

ในขณะที่ประเทศตะวันตกจำนวนมากยังคงต้องจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยวิธีเดิมๆ จีนก็กำลังก้าวไปข้างหน้า หากการคาดการณ์ตัวเลขยังคงไม่เปลี่ยนแปลงภายในปี 2040 รถยนต์ส่วนใหญ่บนท้องถนนในจีนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ไม่ได้กระทบแค่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนให้ประเทศจีนก้าวสู่แนวหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของโลกอีกด้วย จากจุดนั้น จีนจะสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่ยานพาหนะไฟฟ้า เมื่อผู้คน 1.4 พันล้านคนเริ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ก็อาจทำให้ประเทศอื่นก้าวทันได้ยาก

Credit บทต้นทาง China Is Racing to Electrify Its Future, Wired

Related Articles