LightYear ล้มจากปัญหาทางการเงิน หรือนี่คือ Theranos อีกชิ้นของวงการยานยนต์ไฟฟ้า

LightYear ล้มจากปัญหาทางการเงิน หรือนี่คือ Theranos อีกชิ้นของวงการยานยนต์ไฟฟ้า วางแผนไม่ดี เงินไม่พอ หรือว่ารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ทำไม่ได้
Share

 

ตกใจกันไปทั่วโลก เมื่อโครงการรถยนต์ไฟฟ้าไอเดียดีที่พยายามรับพลังงานจากฟ้าเคลมตัวเลขสูงสุดวันละ 70 กิโลเมตรรายนี้ ถึงกับยื่นขอล้มละลายหลังจ้างไม่มีเงินทุนพอที่จะประกอบรถส่งลูกค้า มันมีอะไรที่ส่งกลิ่นอยู่หรือไม่ นั่นคือคำถามที่หลายคนสงสัย

 

โชคร้ายที่ Elizabeth Homes ทำให้ไอเดียของเธอกลายเป็นเรื่องแหกตา(แล้วรวย)กับ Theranos ที่ทำเอามหาเศรษฐีระดับต้นๆ หลายคนในโลกนั่งเซ็งกันไป เลยทำให้ทุกครั้งเมื่อเกิดเรื่องแปลกๆ กับธุรกิจที่ดูเหมือนจะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตมันก็มักจะมีคนเริ่มระแวงระวังกลัวหลังหักกันมากขึ้น แต่ก็อีกแหละบนโลกใบนี้ก็ยังจะต้องเจอกันไปอีกหลายครั้งแหละเพียงแต่ตอนนี้เรามาดูเรื่องราวของโปรเจกต์ที่เพิ่งล้มนี้กันก่อน

 

Project LightYear เมื่อไฟฟ้าไม่พอ ก็ต้องใช้แดดให้เป็นประโยชน์

ถ้าหากวันแรกที่ โครงการเกิดขึ้นด้วยการจะสร้างยานยนต์ไฟฟ้าที่อาจจะวิ่งได้ไกลด้วยเทคโนโลยีพื้นๆ อย่างแบตใหญ่มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง อันนั้นมันก็เหมือนแนวทางเดิมๆ ที่ทุกบริษัทผู้ผลิตใช้กันอยู่ แต่แนวคิดการผสานเทคโนโลยีปัจจุบันเข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ หลายคนกลับคิดไม่ถึงว่ามันจะมารวมกันได้

ด้วยไอเดียนี้ทำให้เกิด Project Lightyear 0 ขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดของการผสานพลังงานสะอาดทุกรูปแบบที่จะมาแทนพลังงานฟอสซิล ทำให้ยานยนต์ในโครงการนี้ออกมาในรูปแบบของการนำเอาไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่กำลังเป็นเทรนด์ของยานยนต์ยุคใหม่ เสริมกับการเติมพลังงานที่ฟรีและมีอยู่ตลอดเวลาอย่างแสงแดดด้วยการนำเอาแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคา

Lex Hoefsloot ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกก้าวมาถูกทางในเรื่องของพลังงานสะอาด แต่ทุกวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าที่ออกมา ยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่

“แต่การเพิ่มแหล่งพลังงานใหม่อย่าง ‘ดวงอาทิตย์’ นอกจากจะก้าวไปสู่พลังงานสะอาดอย่างแม้จริง ก็ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจว่ารถจะได้รับพลังงานอยู่เสมอ และทำให้เราชาร์จรถน้อยลงมาก”

ข้อมูลทางด้านเทคนิค คุณสมบัติหลักๆ คือ นอกจากจะใช้พลังงานจากการชาร์จผ่านระบบไฟฟ้าปกติแล้ว ก็มาพร้อมกับแผงโซชาร์เซลล์ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับรถได้ด้วย เพื่อส่งไฟฟ้าไปให้แบตเตอรี่ขนาด 60 กิโลวัตต์-ชั่วโมง การชาร์จไฟฟ้าปกติ 1 ครั้ง สามารถวิ่งได้ไกล 625 กิโลเมตร (ตามมาตรฐานการวัด WLTP)

โดยที่ Gimmick ของรถไฟฟ้าต้นแบบคันนี้คือการชาร์จผ่านแผงโซลาร์เซลล์เต็มวัน (ในสภาพที่ได้รับแดดเต็มที่) วิ่งได้สูงสุด 70 กิโลเมตร และถ้าสภาพอากาศแบบมีเมฆ ก็ยังได้รับพลังงานที่สามารถวิ่งได้ไกล 35 กิโลเมตรต่อวัน (ซึ่งมีคอมเมนต์จากหลายคนในประเทศไทยบอกว่า หากเอาคอนฟิกนี้มาใช้ในเมืองไทยจะมีคนยอมเอารถจอดในลานจอดรถกลางแจ้งมากขึ้น และอาจจะได้ปริมาณไฟเข้าแบตที่มากกว่าในยุโรปแน่นอน)

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ในบางพื้นที่ การใช้รถขับทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องชาร์จไฟฟ้าเป็นเวลาหลายเดือน บริษัทยกตัวอย่างว่าหากคุณอาศัยอยู่ในอัมสเตอร์ดัมในช่วงฤดูร้อน นอกจากคุณจะแอบเดินเข้าบางซอยของ Red light district สำหรับสายเขียวแล้ว หากขับ Lightyear 0 ก็สามารถไม่ต้องชาร์จได้นานถึง 2 เดือน หรือถ้าเป็นในโปรตุเกสที่แดดดีมาก ก็อาจวิ่งได้นานถึง 7 เดือนโดยที่ไม่ต้องชาร์จเลยก็เป็นได้

LightYearO

โดยที่ราคาของรถล๊อตแรกถูกกำหนดไว้ที่ 250,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 9,250,000 บาท ซึ่งราคาแพงกว่า Tesla Model S เมื่อเปิดตัวครั้งแรกเสียอีก หรือราคาแพงกว่า Lucid Air มากก็เพราะทางบริษัทหวังที่จะนำเอาเงินไปลงทุนกับทำงานกับโปรเจกต์รถใหม่ที่ราคาจับต้องได้ เช่นเดียวกับที่ Tesla เคยใช้วิธีการนี้กับการขาย Tesla Roadster และ Model S รุ่นแรก

แต่ปัญหาแบรนด์หรืออาจจะเรียกว่าปัญหาของผู้ถือสิทธิ์ในการผลิตอย่าง Atlas Technologies B.V. นั้นไม่ได้จบอยู่เท่านั้น อาจเพราะการไม่ได้ถือสิทธิบัตรของส่วนประกอบอื่นๆ เป็นของตัวเองทำให้การสร้างเจ้า LightyearO นั้นก็เจอปัญหามากมายจนมา

Atlas Technologies B.V. วางแผนที่จะเริ่มโครงการ Lightyear2 ตั้งแต่ที่ยังไม่สามารถส่ง LightyearO ถึงมือลูกค้าที่จองไว้ก่อนหน้าเลย ซึ่งก็ไม่ต่างจาก Tesla แต่ที่ต่างกันคือ Tesla นั้นมีโรงงานผลิตมอเตอร์และมีโรงงานแบตเตอรี่ของตัวเองส่วนหนึ่ง ทำให้เรื่องของการจัดการต้นทุนของการผลิต Model S ไม่ได้มีปัญหามากนัก

ถึงเวลาต้องยอมรับว่า LightyearO มันเกิดไม่ได้

เอาจริงๆ ปัญหาของ Atlas Technologies B.V. ไม่ใช่แค่เรื่องของ Supply Chain ที่บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ แต่มันเป็นเรื่องที่คล้ายๆ กับที่เกิดกับแบรนด์รถยนต์หัวลากบรรทุกที่แรกๆ เรียกว่าเป็น Unicorn ของวงการอย่าง Nikola Motor ที่คุยว่าคิดค้นรถหัวลากพลังงานไฟฟ้าที่ทรงพลังกว่าใครๆ บนโลกนี้

LightYear Executive Team

สุดท้ายสิ่งที่ Nikola Motor คุยในวันนั้นหลายคนก็เข้าไปขุดจนพบว่า บริษัทแห่งนี้เป็นงานลวงโลก เรียกว่าน่าจะสูสีกับการโดนเปิดโปงของ Elizabeth Homes ยูนิคอร์นสายการแพทย์ที่ฝันอยากให้เลือดหยดเดียวตรวจได้ทุกโรค ว่าซั่น

Atlas Technologies B.V. ผู้ผลิต และเจ้าของสิทธิบัตรรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบรนด์ Lightyear ได้รับอนุมัติการยื่นล้มละลาย ผ่านการอ้างเรื่องต้นทุนการพัฒนาที่เกินความคาดหมาย ส่วน Atlas Technologies บริษัทแม่ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

“เราเสียใจที่ต้องประกาศเรื่องนี้ให้กับพนักงาน ลูกค้า รวมถึงนักลงทุน และซัพพลายเออร์ และหลังจากนี้จะทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายกฎหมาย รวมถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการยื่นล้มละลายครั้งนี้ หวังว่าทุกคนจะเข้าใจ และสนับสนุน Lightyear ต่อไป” Atlas Technologies B.V. แจ้งอย่างเป็นทางการ

แผงโซลาร์หลายพันเซลล์ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคา น่าจะเป็นปัญหาอย่างแท้จริงของการทำให้เงินในการพัฒนา Lightyear ทั้งสองรุ่นไปไม่ถึงดวงดาว อย่างแรกคือบริษัทออกมาบอกว่าด้วยต้นทุนที่แพงกว่าที่บริษัทคาดการณ์เอาไว้ทำให้ไม่คุ้มในการผลิตรถคันจริงขึ้นมาได้ โดยมีการบอกว่าบริษัทนั้นได้ว่าจ้าง Valmet บริษัทรับผลิตรถยนต์ในฟินแลนด์ผลิต Lightyear 0 ออกมา 946 คัน

แค่เริ่มผลิตต้นแบบ Atlas Technologies B.V. ก็เห็นแล้วว่าปล่อยไปนี่คือหายนะครั้งใหญ่ แต่เบื้องหลังจริงๆ แล้วนั้นมีแหล่งข้อมูลในทวีปยุโรปเริ่มออกมารายงานแล้วว่า เรื่องต้นทุนเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวแต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่จริงๆ นั้นคือประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์บนหลังคานั้น ไม่สามารถทำได้ตามที่ขายเอาไว้

เรียกว่าถ้าปล่อยออกไปให้ใครสักคนได้ทดลอง 1 ใน 946 คันนี้ละก็ อาจจะได้เห็นความล้มเหลวกันคาตาได้ เพราะฉะนั้นการประกาศม้วนเสื่อแล้วกลับไปรอให้มีการพัฒนาการของฝั่งเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดดที่ดีกว่าวันนี้ให้ได้น่าจะดีกว่า โดยที่การขอล้มละลายครั้งนี้จะมีผลกับตัว Atlas Technologies B.V. ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอย่างเดียว ไม่ได้กระทบกับตัวบริษัทแม่ Atlas Technologies แต่อย่างใด

 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้ไอเดียดีหรือดูเหมือนดี หรือคิดว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้ว เมื่อมาเล่นกับการผลิตจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดง่าย เพราะบางนวัตกรรมกว่าจะเห็นความสำเร็จ ต้องอาศัยการดูกันยาวๆ เช่นกัน

Related Articles