จากงานวิจัย สู่บทเพลงไทยสุดเฟี้ยว

Share

 

“ดนตรี” คือเสียงมหัศจรรย์ที่ช่วยขจัดความเจ็บปวดและความเจ็บป่วย ทำให้สามารถก้าวข้ามความทุกข์ไปได้ ทำให้สดชื่นขึ้น

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

ด้วยพลังแห่งเสียงเพลงดังกล่าว รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จึงหยิบขึ้นมาตอกย้ำถึงความสำคัญของสุนทรียศาสตร์ที่สามารถซึมซาบเข้าสู่จิตใจของผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสียงดนตรีมาช่วยเยียวยาความหมองเศร้าให้กับผู้สูงวัย

 

การร้องเพลงของคนแก่จะเรียกว่าดนตรีบำบัด (Music therapy) เสียงดนตรีจะเป็นเสียงบำบัดซึ่งแทรกซึมเข้าไปทางรูขุมขนของร่างกายส่งไปถึงส่วนของหัวใจ ทำให้เกิดสารแห่งความสุข นำไปสู่การเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ คนแก่เมื่อได้ยินเสียงเพลงจะยิ้มแย้มแจ่มใส”

สำหรับบทเพลงอมตะสยามเป็นผลงานวิจัยในโครงการวิจัยดนตรี ที่นำเอาบทเพลงไทยในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยามาจัดทำเรียบเรียงประสานเสียงใหม่ นำเสนอในท่วงทำนองสากลบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยดนตรีไปพัฒนาประเทศ เป็นการวิจัยค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการทำนุบำรุงรักษามรดกด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมดนตรีขึ้นใหม่ นำวัฒนธรรมดนตรีไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งในระดับชาติและระดับสากล

การแสดงอมตะสยาม เราสนใจว่าคนแก่เขาอยากร้องเพลงอะไร ชอบเพลงอะไร เป็นเพลงที่เขาคุ้นเคย จึงคัดเลือกเพลงที่เขานิยมและเป็นเพลงที่เขาจะอยากร้องมาแสดงในวันนี้ ผมตั้งใจว่าหากคนแก่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ปล่อยความแก่ ปลดปล่อยความสุขออกไป ทำให้ชีวิตคนแก่มีความสุขมหาศาล มีชีวิตที่ยืนยาว ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกมีคุณค่า เพราะคนแก่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่ละคนมีความเก่งที่ต่างกัน เหล่านี้ถือว่าเป็นตำราชีวิตที่ยิ่งใหญ่”

ผมได้ตั้งใจรังสรรค์ขึ้นจากหัวใจที่อยากส่งต่อให้กับผู้ฟัง โดยได้นักเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลง 3 คน ตั้งแต่ผู้มีประสบการณ์สูงและรักษาขนบดั้งเดิมเอาไว้ คือ พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ นักเรียบเรียงรุ่นกลาง คือ ดร. ธีรนัย จิระสิริกุล ซึ่งเป็นนักเปียโนผู้ที่มีฝีมือสูง คาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่นำเพลงไทยออกจากขนบประเพณีเดิม และนักเรียบเรียงเสียงประสานรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในการเรียบเรียงเพลงไทยมาก่อน ดร. ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ ได้ทำงานโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อจะนำเพลงไทยไปสู่โลกอนาคต นำเพลงไทยไปสู่ความเป็นสากล

ประธานมูลนิธิสุกรี เจริญสุข บอกอีกว่า ผลงานการวิจัยดนตรีอมตะสยามในครั้งนี้ ได้สรุปความหมายของดนตรีคลาสสิกเสียใหม่ว่า เป็นเพลงที่มีความละเอียด มีความประณีต ตั้งแต่การประพันธ์เพลง การถ่ายทอดบทเพลงกลั่นออกมาจากใจ โดยการเรียบเรียงเสียงเพลงอย่างประณีต การบรรเลงอย่างบรรจงด้วยฝีมือชั้นสูง มีความตั้งใจในการแสดง และความตั้งใจของผู้ฟังในการฟัง เป็นต้น ทำให้ดนตรีทุกชนิดสามารถเข้าข่ายความเป็นดนตรีคลาสสิกได้

นอกจากนี้ยังมี ดร.สุชาติ วงษ์ทอง มาร่วมสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบเพลงต่างๆ อาทิ เพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 เพลงวอลซ์ปลื้มจิตร เพลงเขมรไทรโยค โดยการบรรเลงกีตาร์คลาสสิก จากนายชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ ต่อด้วยการแสดง เพลงสายสมร ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เพลงสุดใจ ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงเชิดจีน เพลงลาวแพนออกซุ้ม  และพิเศษสุดกับบรรเลงขลุ่ย โดย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ซึ่งตลอดการแสดงอมตะสยามอำนวยเพลง โดย พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ และ ดร. ธีรนัย จิรสิริกุล

ผู้สนใจสามารถรับชมบันทึกความทรงจำ และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปให้ได้รับชมในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ThaiPBS

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles