AWS ดันระบบนิเวศคลาวด์ สร้างขุมพลังขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ

อราฟ อโรรา หัวหน้าฝ่ายระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพ AWS
Share

 

AWS ดันคลาวด์ ขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ

 

แทบไม่มีธุรกิจใดที่ไม่ได้รับความเดือนร้อนจากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 หนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากสตาร์ทอัพจำนวนมากกำลังอยู่ในช่วงสร้างฐานลูกค้า และการมี cash flow อยู่ในมือคือสิ่งสำคัญ

การรับมือกับวิกฤติ พร้อมปรับตัวรับ “ความปกติใหม่” หรือ new normal ได้อย่างดี จึงเป็นความหวังที่ช่วยสร้างโอกาสและต่อลมหายใจให้กับสตาร์ทอัพได้

ผู้ที่มองเห็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดกับสตาร์ทอัพได้อย่างถ่องแท้ อย่าง กอราฟ อโรรา หัวหน้าฝ่ายระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพกำลังเผชิญคือ แผนที่วางไว้ ไม่เป็นไปตามคาด จากสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบทั่วโลก

“เราทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพจำนวนมาก และรับรู้มาว่าสตาร์ทอัพหลายรายกำลังทบทวนแผนงานและปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ใหม่ เพื่อรับมือกับ new normal ซึ่งหากปรับตัวและรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ได้ แม้คลาวด์จะได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบที่ให้ความคุ้มค่าสำหรับการเปิดตัวและสร้างธุรกิจ แต่ก็มีสตาร์ทอัพหลายราย ที่อาจจะเติบโตอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้ แต่ก็ลืมมองว่าได้ใช้คลาวด์อย่างเหมาะสมหรือไม่”

มุมมองเปลี่ยน วิธีการเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายเปลี่ยน

การเปลี่ยนมุมมองและปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ได้อย่างเหมาะสม ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายและทำให้มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจมากพอ เพราะไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าจำนวนมากไปกับการลงทุน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ปัจจุบัน สมาชิกในทีมของ AWS ได้รับมอบหมายให้ช่วยลูกค้าลดค่าใช้จ่ายด้านคลาวด์ พร้อมนำเสนอแนวทางเพื่อช่วยสตาร์ทอัพประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้คลาวด์ในหลายวิธี

กอราฟ อโรรา อธิบายถึงแนวทางที่นำเสนอให้กับสตาร์ทอัพว่ามีทั้งการนำเสนอโมเดลด้านราคา โดยคิดราคาตาม spot ซึ่งสตาร์ทอัพชอบโมเดลนี้ เนื่องจากทำให้ได้รับส่วนลดสูงถึง 90% จากราคาสำหรับการใช้งานแบบออนดีมานด์  และเมื่อเร็วๆนี้ AWS ยังได้เปิดตัว Saving Plans ซึ่งเป็นโมเดลราคาที่ยืดหยุ่นช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบประมวลผลของ AWS ได้มากถึง 72%

นอกจากนี้ ยังมีบริการ AWS Cost Explorer ที่ช่วยลูกค้าสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและตั้งการแจ้งเตือนเวลาที่ใช้งานเมื่อถึงจุดที่กำหนดไว้ และ AWS Trusted Advisor เครื่องมือระบบออนไลน์ที่ช่วยสตาร์ทอัพลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพ และปรับปรุงเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วยการเช็คการใช้ระบบโครงสร้างและการบริการของตัวเองได้ อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมเต็มประสิทธิภาพ พร้อมกับลดราคาผลิตภัณฑ์และการบริการลงถึง 85 เท่านับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัว AWS ในปี 2006

ระบบนิเวศคลาวด์ และการสนับสนุน สำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างไร

กอราฟ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่จำเป็นสำหรับสตาร์ทอัพ คือการสนับสนุนตลอดช่วงธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มธุรกิจตลอดจนธุรกิจมีการขยายตัว ซึ่ง AWS เองมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จให้กับสตาร์ทอัพ ด้วยโปรแกรม AWS Activate ที่จะช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ให้สามารถสร้างธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงคอยสนับสนุนตลอดทุกช่วงวงจรของธุรกิจ

AWS Activate ให้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น AWS credits รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคนิค และการฝึกอบรม โดยในแต่ละปี สตาร์ทอัพจำนวนหลายหมื่นรายทั่วโลกจะได้รับข้อได้เปรียบจากการสนับสนุนเหล่านี้ ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 และอะเมซอนยังมอบ AWS Credit กว่า 1พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้บรรดาสตาร์ทอัพทั่วโลกเร่งสู่การเติบโต และพัฒนาการในการสร้างธุรกิจให้เติบโตขึ้นด้วย”

สำหรับประเทศไทย สตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น จะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่ AWS Activate มอบให้ เช่น  Living Mobile ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านแอปพลิเคชัน ที่ช่วยบริหารจัดการร้านอาหาร ใช้ชื่อว่า FoodStory ซึ่งมีการใช้ในคาเฟ่ ร้านที่เป็นคีออส ฟู้ดทรัค และร้านอาหารทุกขนาด ที่ช่วยบริหารจัดการทุกเรื่องตั้งแต่จุดชำระเงิน ไปจนถึงการจัดการสต็อก ตลอดจนการจัดส่ง ฯลฯ  การใช้ Activate ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึง AWS credits และการสนับสนุนด้านเทคนิคที่ช่วยให้ทดลองใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี อย่างแมชชีน เลิร์นนิ่งได้

คอนเนคชั่นกับนักลงทุนคือแต้มต่อ

ระบบนิเวศก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพเช่นกัน กอราฟ อธิบายเพิ่มเติม “ที่ AWS เรายังช่วยสร้างคอนเนคชั่นระหว่างสตาร์ทอัพกับลูกค้าที่มีศักยภาพรวมถึงนักลงทุน ด้วยการเชื่อมโยงผู้บริหารจากองค์กรใหญ่เข้ากับสตาร์ทอัพ เพื่อรับฟังโซลูชันใหม่ที่น่าสนใจ พร้อมอำนวยความสะดวกในเรื่องของการแนะนำโครงการสนับสนุนในระดับโลกเพื่อเร่งการเติบโต (global accelerators) รวมถึงนักลงทุนอิสระ หรือ angel investors พร้อมแหล่งเงินทุนสนับสนุน (seed funds) และบริษัทที่ร่วมลงทุน (venture capital firms) ที่อยู่ในเครือข่ายของเรา เพื่อเป็นแรงสำคัญในการช่วยสตาร์ทอัพระดมทุนเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตขึ้น”

ฟินเทค เฮลธ์แคร์ และอีคอมเมิร์ซ ไทยมาแรง แซงโค้ง

“สำหรับประเทศไทยเอง มีสตาร์ทอัพหลายอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีมาช่วยปฏิรูปธุรกิจ โดยเฉพาะภาคฟินเทค เฮลธ์เทค และอีคอมเมิร์ซ และหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคบริการด้านการเงินและประกัน ซึ่งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เลือกที่จะเริ่มธุรกิจบน AWS ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน อย่าง 2C2P และ InsurTech startup กับ Sunday Insurance เช่นเดียวกับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซอย่าง aCommerce ซึ่งเป็นผู้ให้บริการและผู้ช่วยด้านการทำอีคอมเมิร์ซ (ecommerce enabler) และผู้ค้าปลีกด้านแฟชั่น อย่าง Pomelo ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อไม่นานมานี้ ยังได้เห็นการเติบโตของผู้ให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (telehealth providers) อย่าง Doctor Raksa ของประเทศไทย และ Holodoc ในอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งหมดล้วนสร้างธุรกิจบนคลาวด์ AWS” กอราฟ กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles