“ขนมปังยาสุม” อาหารชื่อแปลกกับอัตลักษณ์ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย

ขนมปังยาสุม
Share

 

“ขนมปังยาสุม” อาหารชื่อแปลกกับอัตลักษณ์ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย

 

ขนมปังยาสุมเนื้อนุ่มพร้อมหน้าขนมปังหอมกรุ่นจากเนื้อเผสมผสานครื่องเทศและสมุนไพร
ขนมปังยาสุมเนื้อนุ่มพร้อมหน้าขนมปังหอมกรุ่นจากเนื้อผสมผสานเครื่องเทศและสมุนไพร

ในวันแดดร่มลมดี เราพากันเดินลัดเลาะเข้าซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 1 ที่เชิงสะพานพระปิ่นแกล้า ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อมาเยือนชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย ไม่ใช่แค่มาซึมซับประวัติศาสตร์และที่มาของชุมชนโบราณ แต่ยังตั้งใจมาเพื่อชิมอาหารชื่อแปลก “ขนมปังยาสุม” ขนมปังที่ถือเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมทางอาหารของที่นี่โดยเฉพาะ

ก่อนเข้าเรื่องอาหาร มารู้จักชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยกันสักนิด

ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยคือชุมชนมุสลิมโบราณที่สามามารถสืบย้อนได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา บรรพบุรุษของชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยเป็นชนชาติอาหรับที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่ยุคสมัยนั้น ชาวมุสลิมที่นี่มีทั้งที่อยู่มาแต่เดิมและส่วนใหญ่ที่อพยพมาเมื่อครั้งอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2

มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน
มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน

ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดเพชรบุรี และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้พื้นที่ตรงบริเวณปากคลองบางกอกน้อยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟ จึงขอแลกที่ดินฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นอู่เรือหลวงกับชุมชนมุสลิม โดยพระองค์ได้พระราชทานทั้งที่ดินในจำนวนที่มากกว่าเดิม และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ขึ้นที่นี่ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามในการประกอบพิธีทางศาสนาได้โดยสะดวก โดยมีการประกาศพระบรมราชูทิศไว้แต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ อีกทั้งยังทรงพระราชทานที่ดินเพิ่มเติมในปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ เพื่อการก่อสร้างโรงเรียนเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาในชุมชนอีกด้วย ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยจึงตั้งอยู่บนพื้นที่นี้นับตั้งแต่นั้น

ขนมปังยาสุมเนื้อ (ซ้าย) และขนมปังยาสุมไก่ (ขวา) อาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
ขนมปังยาสุมเนื้อ (ซ้าย) และขนมปังยาสุมไก่ (ขวา) อาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

อาหารกับอัตลักษณ์ชุมชน

เมื่อมีชุมชน สิ่งที่มาคู่และอยู่คู่เคียงมากับชุมชนตลอดระยะเวลาอันยาวนานคือวิถีชีวิต คือวิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ คือภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมารวมถึงวิถีการกินอยู่ หรือพูดง่ายๆ คือรูปแบบของอาหารที่ส่งต่อกันมาภายในชุมชน

คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity หมายถึงลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ จึงถือได้ว่า ขนมปังยาสุมเป็นหนึ่งในอาหารหลายๆ อย่างที่เป็นอัตลักษณ์ด้านอาหาร การกินอยู่ของชาวมุสลิมบางกอกน้อยแห่งนี้

ที่เรียกว่า “ยาสุม” ก็เพราะหน้าขนมปังเต็มไปด้วยส่วนผสมทั้งที่เป็นเนื้อสัตว์และที่เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศนำเข้าคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เปรียบเหมือนการเอายามาสุมไว้เพื่อช่วยให้ผู้กินเพลิดเพลินอิ่มอร่อยไปกับอาหารรสชาตินุ่มละมุน (หรืออาจจี๊ดจ๊าดเมื่อกินพร้อมพริกสดโรยหน้า) และยังได้รับยาเพื่อบำรุงร่างกายจากสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบไปพร้อมกัน

สัมผัสแรกที่ได้ชิมอาหารจานยา(สุม)นี้ อย่างแรกที่ประทับใจคือขนมปังที่นุ่มหอมด้วยเนยกี (Ghee) มีความเหนียวของเนื้อแป้งกำลังดี เนื้อไก่ที่คลุกปรุงกับเครื่องเทศและสมุนไพรที่รสชาติกลมกล่อมยิ่งมีหอมเจียวโรยด้านบนพร้อมพริกสดชิ้นเล็กๆ ทำให้อาหารจานไม่เล็กนี้กินได้เรื่อยๆ อย่างเพลิดเพลิน นอกจากสมุนไพร เนยกีคืออีกส่วนผสมชั้นดีที่เพิ่มคุณค่าให้กับอาหาร เพราะเนยกีคือเนยที่ได้จากการสกัดนมและน้ำออกจนเหลือแต่ไขมันเนยล้วนซึ่งถือเป็นไขมันชนิดดี ที่มีวิตามินที่เป็นประโยชน์ที่สำคัญทำให้ขนมปัง หรืออาหารมีรสชาติที่อร่อยมากขึ้น

จากที่นั่งคุยกับคุณแม่ของเจ้าของร้านอาหาร Sultana Halal Bangkoknoi ผู้รับสูตรตกทอดด้านอาหาร โดยเฉพาะขนมปังยาสุม บอกว่าการทำขนมปังยาสุมถือเป็นกุศโลบายของการสร้างความสามัคคีกันภายในครอบครัวและภายในชุมชน เป็นขนมปังที่จะทำกันในงานมงคล อาทิ วันอีด หรือ อีดิลฟิฏร์ (Eid al-Fitr) ซึ่งเป็นวันฉลองในการละศีลอด ในสมัยก่อนการนวดแป้งขนมปัง ทำหน้าขนมปังทำได้ยาก เวลาอบต้องใช้เตาผิง เมื่อทำแต่ละครั้งเป็นงานใหญ่ที่ทั้งครอบครัวหรือในชุมชนจะมาร่วมมือลงแรงช่วยกันทำ

นอกจากนี้ ขนมปังยาสุมยังเรียกได้ว่าเป็นอาหาร “ฟิวชั่น” ที่มีการพัฒนาปรับสูตรให้เข้ากับลักษณะการกินของชาวมุสลิมในไทย โดยขนมปังยาสุมนี้ยังคงมีอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งที่นั่นที่รสชาติจะออกไปทางเปรี้ยวและเค็ม ในขณะที่ยาสุมที่นี่จะเป็นรสที่ปรับให้กลมกล่อมถูกปากคนไทย และถือได้ว่าเป็นเมนูที่เป็นสูตรลับประจำชุมชนมุสลิมแห่งนี้อย่างแท้จริง เพราะจากที่หิ้วขนมปังยาสุมไปฝากคนรู้จักที่เป็นมุสลิมในพื้นที่อื่น ได้รับคำบอกว่านี่คือครั้งแรกที่ได้รู้จักและชิมขนมปังชนิดนี้จริงๆ

ข้าวหมกและแกงกุรุหม่าเข้มๆ อีกเมนูอร่อยขึ้นชื่อ
ข้าวหมกและแกงกุรุหม่าเข้มๆ อีกเมนูอร่อยขึ้นชื่อ

นอกเหนือจากขนมปังยาสุมที่ถือเป็นอาหารหากินได้ยาก ที่ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยแห่งนี้ยังมีตำรับอาหารที่สืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ ข้าวหมกสามสีที่มีทั้งข้าวสีขาวนวล ข้าวที่มีสีแสดที่ได้จากการคลุกกับหญ้าฝรั่น และข้าวสีน้ าตาลจากการคลุกเคล้ากับเครื่องเทศ ยังมีแกงกุรซีหรือที่รู้จักกันในชื่อแกงกุรุหม่าที่มีรสชาติเข้มข้น ซึ่งทั่วไปอาจคุ้นเคยในการกินกับแป้งนานแต่ที่นี่กินคู่กับขนมปังอบนุ่มเป็นคู่เคียง และยังมีอาหารอีกหลายอย่างให้ลิ้มลอง

อัตลักษณ์ของท้องถิ่นและชุมชนมาได้ในหลายรูปแบบ สำหรับที่นี่ เรารู้จักชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยแห่งนี้ผ่านจานอาหารที่เป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญา เป็นที่ส่งทอดต่อมาจากบรรพบุรุษมาสู่คนรุ่นปัจจุบัน

และในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างดูจะเหมือนกันไปหมดทุกสิ่ง ขนมปังยาสุม คือหนึ่งในอัตลักษณ์ชุมชน คือคุณค่า คือความภาคภูมิใจ คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวของชุมชนอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดผ่านจานอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ที่จะบอกเล่าที่มา ความมีตัวตนที่แตกต่างและโดดเด่นอันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ชุมชนควรรักษาไว้

มากินอาหารจานยา(สุม) และรู้จักกับชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยกัน

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles