กลยุทธ์ 3 เด้ง ซือแป๋เรียกพี่…เบื้องหลังโอลิมปิกฤดูหนาวสีเขียว

Share

 

กลยุทธ์ 3 เด้ง ซือแป๋เรียกพี่…

เบื้องหลังโอลิมปิกฤดูหนาวสีเขียว

 

ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ มหานครปักกิ่ง ประเทศจีน

แฟนกีฬาไม่มีใครไม่รู้จัก “ปิงตุนตุน” แพนด้าในชุดน้ำแข็งคล้ายชุดนักบินอวกาศ มาสคอตสัญลักษณ์ของเทคโนโลยีและการส่งเสริมแนวคิดอนาคตแห่งความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด ที่ขายดีจนขาดตลาด ถึงกับมีคลิปสอนทำตุ๊กตาปิงตุนตุน

แค่วันเปิดพิธีอย่างเป็นทางการ มิพักต้องกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ตระการตา วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเดินทางไปเป็นวีวีไอพี ขณะที่ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ออกแถลงการณ์ชื่นชม

ท่ามกลางดราม่าที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบอยคอตของบางประเทศที่ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน โดยหยิบยกประเด็นอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่าจีนปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง การจำกัดสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงผ่านการออกกฎหมาย ยังมีข่าวการติดเชื้อโอมิครอน ต่างๆ นานา

กระนั้น จีนมุ่งมั่นเดินหน้าให้สมกับที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ไม่เพียงแค่การ “ส่งสาร” บางอย่างผ่านเวทีกีฬา ยังใช้โอกาสนี้ยกระดับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฤดูหนาวในพื้นที่ชนบท ในเมื่อยืนหนึ่งด้านกีฬาปิงปองมาได้ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง กับกีฬาฤดูหนาวทำไมจะเป็นไปไม่ได้

จากเดิมไอซ์ฮ็อกกี้หรือฮ็อกกี้น้ำแข็งและสกีเป็นกีฬาของนักท่องเที่ยวและคนมีสตังค์ ด้วยนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ทำให้ทุกอย่างเงียบกริบ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จึงดึงกีฬาเหล่านี้ลงมาเป็นกีฬาของมวลชน บรรจุการเรียนการสอนกีฬาฤดูหนาวเข้าไปในหลักสูตรโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา เพื่อเฟ้นหาช้างเผือกเป็นตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฤดูหนาวในทุกการแข่งขัน…ถึงตอนนี้คลิปของหนูน้อย หวัง อวี่จี วัย 11 เดือน บนสโนว์บอร์ดที่กำลังไถลลงเขาที่เขตฉงหลี่ ในเมืองจางเจียโขว่ มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของจีน ที่กลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืนก็แวบขึ้นมาในความคิด

กลับมาที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ของจีน ที่ใช้เวลาเตรียมการนานถึง 3 ปี นับจากได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั่วทั้งประเทศจีนมีการสร้างลานกีฬาน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอีก 450 แห่ง รวมเป็น 654 แห่ง สร้างสกีรีสอร์ทเพิ่มจากเดิมมี 568 แห่ง ปัจจุบันมีทั้งหมด 803 แห่ง

แม้กระทั่งเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ที่ให้หนาวสุดก็เพียง 7 องศาเซลเซียส มีการสร้างศูนย์กีฬาน้ำแข็งขึ้นใจกลางเมือง ทำให้เด็กๆ ได้ก้าวตามความฝันที่จะเป็นนักกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฤดูหนาว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับกลางและย่อมในพื้นที่ท้องถิ่น ตั้งแต่ที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า ยังไม่นับโค้ชฝึกสอน

ตัวอย่างเช่น อำเภอฉงหลี่ ในเมืองจางเจียงโข่ว หนึ่งในสองเมืองที่เป็นสถานที่หลักในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ในปี 2015 ยังเป็นหมู่บ้านที่ประชาชนร้อยละ 16.8 มีรายได้อยู่ใต้เส้นยากจน ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ เมื่อรัฐบาลเนรมิตโครงสร้างพื้นฐานแปลงโฉมให้เป็นสวรรค์สำหรับนักสกี รองรับการแข่งขันครั้งนี้ มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสถานีปักกิ่ง-ฉงหลี่แสนสะดวกสบาย ปัจจุบันฉงหลี่กลายเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวเพื่อการเล่นสกีที่ควรค่าแก่การไปเยือนมากที่สุดหนึ่งใน 52 แห่งตามรายงานของนิวยอร์คไทม์เมื่อปี 2019

อย่างไรก็ตาม ด้วยความแปรปรวนของสภาพอากาศในกรุงปักกิ่ง เกือบทุกวันของเดือนกุมภาพันธ์มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่เหนือจุดเยือกแข็ง แม้กระทั่งเมืองหยานชิงและจางเจียโข่ว ซึ่งภูมิประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่า อุณหภูมิสูงสุดยังอยู่เหนือจุดเยือกแข็ง จะลดลงต่ำสุดถึง -10 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน ทำให้โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ต้องพึ่งพาหิมะเทียมเกือบ 100%

ปืนหิมะ เครื่องกำเนิดหิมะเทียมที่ขับเคลื่อนด้วยพัดลม และหอหล่อเย็น จึงถูกนำมาติดตั้งที่กรุงปักกิ่งตั้งแต่ปี 2018 เพื่อปรับพื้นที่การแข่งกีฬาประมาณ 800,000 ตารางเมตร คาดกันว่าต้องใช้น้ำถึง 49 ล้านแกลลอนเพื่อผลิตหิมะสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 3,600 สระ หรือเท่ากับน้ำดื่มใน 1 วันของคนเกือบ 100 ล้านคน

กระนั้น ด้วยการประกาศจุดยืนของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ว่าจะเป็น “โอลิมปิกสีเขียว” ตามนโยบายของการมุ่งสู่เน็ตซีโร่ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด ฉะนั้นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตหิมะเทียมจึงใช้ Carbon Dioxide Transcritical Direct Cooling ในการทำน้ำแข็ง ลดการใช้พลังงานได้กว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับวิธีเดิม

รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ มีการรียูสและลดการผลิตใหม่ อย่าง ปรับปรุงสนามกีฬาในกรุงปักกิ่งทั้ง 5 แห่งที่เคยใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2008 เพื่อใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ รถที่ใช้รับส่งนักกีฬาเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด เป็นต้น

เพราะนี่เป็นโอกาสที่จีนจะตอกย้ำความสำเร็จ และความก้าวหน้าในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก.

 

__________________

ภาพประกอบ: China Daily, Olympics

 

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles