Digitalization ภาคธุรกิจและการศึกษา กำลังโต้คลื่นดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

“Digitalization” เมกะเทรนด์ปี 65 เปลี่ยนโลกธุรกิจ-การศึกษา สู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
Share

 

“Digitalization” เมกะเทรนด์ปี 65 เปลี่ยนโลกธุรกิจ-การศึกษา สู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

 

คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ฉายภาพ Megatrend ปี 65 ชี้ภาพปรากฏการณ์ ภาคธุรกิจ การศึกษา และสังคม ต้องปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ มีความท้าทายใหม่ ๆ ในปลูกถ่าย DNA ขององค์กรธุรกิจให้ข้ามสายพันธุ์จากแบบธุรกิจเดิม ไปสู่ธุรกิจใหม่ผ่าน Digitalization และ Lifelong Learning ในยุคโลกาภิวัตน์

“เมื่อพูดถึงคำว่า Digitalization อาจจะขยายความไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ในยุคธุรกิจดิจิทัล ก็คือ  1 สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) 2 โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) 3 การ วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)  4 เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud Computing) และ 5 อินเตอร์เน็ตของสรรพ สิ่งหรือไอโอที (Internet of Things; IoT) หรือที่เรียกย่อกันทั่วไปว่า SMACI” รศ.ดร.ปีเตอร์ รักธรรม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าว

ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทที่ให้บริการ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกอย่างเฟซบุ๊ค (Facebook) ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นเมต้า (Meta)เพื่อเปลี่ยนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานการอย่างแพร่หลายผ่านโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ให้กลายไปเสมือนโลกคู่ขนาน (Metaverse) กับชีวิตจริงโดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR/AR) ในขณะที่เฟซบุ๊คกำลังขับเคลื่อนโลกไปสู่ Metaverse นั้น เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการข้อมูล คลาวด์ และ IoT ก็ได้รับการยอมรับและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ทั้งในภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ที่เริ่มเห็นความสำคัญของการมีข้อมูล (Data) และศักยภาพในการวิเคราะห์(Analytics) ในข้อมูลที่มีอยู่ พฤติกรรมการจัดเก็บข้อมูลทั้งในส่วนขององค์กรและส่วนบุคคล เริ่มหันมาใช้บริการคลาวด์ กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น และความสะดวกรวดเร็วในการเชื่อมโยงกับบริการอื่น ๆ ที่มีให้บริการในอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้เทคโนโลยี IoT เริ่มถูกนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ผ่านผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์พกติดตัว ฯลฯ ซึ่งมีมากขึ้นจากเดิมที่แค่ถูกใช้ภาคธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้แพร่กระจายไปสู่ทุกภาคส่วนในสังคม จนถึงขั้นทำให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต นำไปสู่การเกิดธุรกิจใหม่ และทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันนั้นหายไป นั่นก็คือเทคโนโลยีเหล่านั้น “ราคาถูก (Cheap)” ในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อโทรศัพท์มือถือพร้อมอินเตอร์เน็ตได้ในราคาที่จับต้องได้ จ่ายเพิ่มอีกนิดก็ได้พื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ เพิ่มเพื่อใช้ในการสำรองข้อมูล แพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์หลาย ๆ ยี่ห้อได้นำสินค้าเทคโนโลยีราคาถูกมากมายจากสาธารณรัฐประชาชนจีนออกสู่ตลาด

ทำให้หลาย ๆ ครัวเรือนในยุคปัจจุบันนั้นมีผลิตภัณฑ์ IoT ใช้งาน กล่าวโดยสรุป คือ “ราคาถูก” นอกจากจะทำให้มีเทคโนโลยีมาใช้งานได้ง่ายแล้ว ยังทำให้มีการแพร่กระจายการใช้งานในสังคมได้กว้างมากยิ่งขั้นปรากฏการณ์ Digitalization นี้เป็นแรงผลักดันที่มีส่วนสำคัญในเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าในด้านการศึกษา ภาคธุรกิจ และสังคม

สำหรับ Digitalization ในภาคการศึกษา อ.ดร.วินัย นาดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ภาคการศึกษานั้นได้รับโจทย์สำคัญ ในฐานะที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ รวมไปถึงพัฒนาองค์ความรู้เดิมให้มีความผสมผสานกับเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาในตอนต้น จะเห็นได้ว่าวิชาในสายวิทยาการข้อมูล (Data science) นั้นได้รับความนิยม และถูกนำไปผนวกเข้ากับสาขาวิชาเดิมกันอย่างแพร่หลาย ทักษะด้านการเขียนโปรแกรม (Coding) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ก็ได้รับความสนใจ มีการให้คนรุ่นใหม่เริ่มสัมผัสและศึกษากันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

ในส่วนของรูปแบบการเรียนสมัยใหม่ สถานการณ์การโรคระบาดโควิด 19 นั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ภาคการศึกษามีความ Digitalization อย่างก้าวกระโดด ด้วยพื้นฐานโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีให้บริการมีความเร็วเพียงพอและแพลตฟอร์มที่ให้บริการเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ภาคการศึกษามีความจำเป็นต้องใช้นั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้ เรามีแพลตฟอร์มที่ช่วยในการจัดการห้องเรียน การประชุมออนไลน์ ระบบการจัดสอบ ฯลฯ

ในเมื่อเรามีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว ในขณะที่ภัยโรคระบาดผ่านพ้นไป สิ่งที่ยังต้องคอยดูต่อไปก็คงเป็นเพียงว่า ภาคการศึกษาจะเดินต่อไปข้างหน้ากับเทคโนโลยีที่เราเรียนรู้ ทักษะที่เราฝึกฝน และประสบการณ์จากการถูกบังคับให้เชื่อมต่อกับโลกภายนอกในบริบทของกิจกรรมด้านการศึกษาผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นโลกอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมีโอกาสที่ปรัชญาและการเรียนรู้ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนนั้น จะถูกแทนที่ด้วยการเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยีแทน

ส่วนในภาคธุรกิจ นั้นจัดเป็นผู้บุกเบิกในเรื่อง Digitalization อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators) หรือผู้ที่นำเทคโนโลยีมาสร้างเป็นสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของแต่ละภาคธุรกิจ หากมองเรื่อง Digitalization ในธุรกิจ อาจจะต้องมีการวัดระดับความดิจิทัลกันก่อน ซึ่งอาจจะเริ่มต้นตัวสินค้าหรือบริการของแต่ละธุรกิจว่าสามารถส่งไปถึงลูกค้าได้ ได้โดยใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นหลักได้หรือไม่

ถ้าทำไม่ได้แล้วสามารถที่จะสร้างกลไกอะไรได้บ้างเพื่อที่จะส่งสินค้าหรือบริการเหล่านั้นไปให้ถึงมือลูกค้า ธุรกิจที่พอจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการเปรียบเทียบถึงระดับความดิจิทัล เช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจออนไลน์สตรีมมิ่งในยุคเริ่มแรกธุรกิจโรงภาพยนต์ในก็มีวิวัฒนาการในด้าน Digitalization อยู่ก่อนแล้วไม่ว่าจะเป็นการจองรอบเข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ เพียงแต่ว่าในขั้นตอนท้ายสุดนั้นลูกค้าจะต้องเข้ามาใช้บริการในโรงภาพยนตร์ ในขณะที่บริการออนไลน์สตรีมมิ่งนั้น ไม่มีส่วนไหนเลยที่ลูกค้าจ าเป็นจะต้องพึ่งพาบริการทางกายภาพจากผู้ให้บริการ

นอกเหนือจากตัวสินค้าหรือบริการแล้ว ทรัพยากรบุคคลในภาคธุรกิจนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ถึงขั้นเป็นตัวชี้ขาดว่าธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้นจะได้ไปต่อหรือไม่ สืบเนื่องมาจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีกระแสในเรื่องของการทำเอาส์ซอร์ส (Outsourcing) เพื่อลดต้นทุนในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ทำให้หลาย ๆ องค์กรธุรกิจนั้นมีเพียงบุคลากรที่เชี่ยวชาญในทักษะที่ตัวธุรกิจเหล่านั้นให้ความสำคัญเป็นเป้าหมายหลัก เมื่อถึงคราวที่ต้องเสริมศักยภาพทางด้านดิจิทัลให้กับตัวธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า

ตัวบุคลากรที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ จะรอจ้างธุรกิจเอาส์ซอร์สก็ไม่สามารถด าเนินการได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องของความลับทางการค้า หรือทักษะที่ผู้รับจ้างมีก็อาจจะไม่ตรงกับโจทย์ของธุรกิจ ณ เวลานั้นหลายองค์กรธุรกิจจึงได้มีการปรับแผนบุคลากร มีการให้ความสำคัญกับการจ้างงานบุคลากรที่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยี มีโครงการพัฒนาบุคลากรเดิมให้เพิ่มพูนความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งเปรียบได้กับความพยายามที่จะปลูกถ่ายดีเอ็นเอขององค์กรธุรกิจให้ข้ามสายพันธุ์จากแบบธุรกิจเดิม ไปสู่ธุรกิจใหม่ผ่าน Digitalization และ Lifelong Learning ในยุคโลกาภิวัตน์

ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่แทบจะทุกสิ่งอย่างในโลกนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันผ่านเทคโนโลยี การมีเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง ซึ่งมีผู้ใช้งานมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรโลก อยู่ในความครอบครองขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น ย่อมทำให้เกิดความหวาดกลัว กลไกต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการที่จะกำกับดูแล ไม่ให้เทคโนโลยีหรือองค์กรธุรกิจเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้น มีอิทธิพลมากเกินไป อีกทั้งยังเพิ่มความอุ่นใจให้กับพลเมืองโลกว่าข้อมูลความเป็นส่วนตัวของพลเมืองแต่ละคนนั้นจะได้รับการปกป้องดูแล หากมองอีกนัยหนึ่ง ก็อาจจะเป็นการคานอำนาจกันระหว่างเจ้าของนวัตกรรมและผู้บริโภค

กลไกเหล่านี้เช่น การปกป้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ถูกนำไปสร้างเป็นเครื่องมือในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ข้อตกลงทางการค้า ฯลฯ ซึ่งแน่นอน ในโลกนี้ไม่ได้มีเพียงสองบทบาทที่กล่าวในข้างต้นซึ่งปรากฏการณ์หาจุดดุลยภาพระหว่างเจ้าของนวัตกรรมและการปกป้องผู้บริโภคนั้น กลายเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย คือ พฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านั้นได้มีการปรับแต่งบริการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือข้อตกลงทางการค้าที่แพลตฟอร์มเหล่านั้นตั้งอยู่ หรือมีลูกค้าในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายนั้น ๆ

จะเห็นได้ว่า Digitalization นั้นเชื่อมโยงกับชีวิตเราในทุกมิติ ตั้งแต่ของใช้ประจำวัน ไปถึงความเชื่อมโยงของผู้คน ภาคธุรกิจและทุกสิ่งในยุคโลกาภิวัตน์นี้ในบริบทของ Digitalization หากมองผิวเผินจะเป็นเพียงการประดิษฐ์ นำไปใช้ แบ่งกันใช่ หรือแม้กระทั่งสร้างกติกาการใช้ร่วมกัน แต่ไม่ควรลืมสิ่งที่สำคัญกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมที่ดี ธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น

ที่มา: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles